วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2554

ชีวประวัติและผลงานย่อของ โยคีบรมหงส์ โยคานันท์



ชีวประวัติและผลงานย่อ

ของ โยคีบรมหงส์ โยคานันท์




ชื่อเดิม มุกุนท์ ลาล โฆศ(Mukunda Lal Ghos)


เกิดเมื่อ 5 มกราคม ค.ศ. 1893


ที่เกิด เมืองโครักปูร์(Gorakpur) ประเทศอินเดีย ในครอบครัวชาวอินเดีย ฐานะดี


ตอนเด็กๆ มีญาณพิเศษที่มาพร้อมกับเกิด เช่น สามารถระลึกชาติได้ เป็นต้น


มีใจฝักใฝ่ด้านศาสนาและปรัชญาตั้งแต่เยาว์วัย พยายามเสาะแสวงหาคุรุที่จะมาช่วยนำทางจิตและวิญญาณ


ปี ค.ศ. 1910(ขณะมีอายุ 17 ปี) มอบตัวเป็นศิษย์ของ สวามี ศรียุกเตศวร คิรี(Swami Sriyukteswar Giri) และใช้ชีวิตในการฝึกอบรมบ่มนิสัยอยู่กับท่านที่อาศรมเมืองเซรัมโปร์เป็นเวลา 10 ปี


จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยกัลกัตตา เมื่อ ค.ศ. 1915 แล้วบวชเป็นพระฮินดูนิกายสวามี(Swami Order) มีชื่อทางพระว่า โยคานันทะ( Yogananda) โดยมุ่งเข็มชีวิตที่จะเข้าถึงพระเป็นเจ้าให้จงได้


ปี ค.ศ. 1917 ตั้งโรงเรียนชื่อ พรหมจารยะวิทยาลัย ที่เมืองรันชี เป็นที่เรียนของเด็กผู้ชาย ซึ่งมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ผสมผสานระหว่างการศึกษาสมัยใหม่กับการฝึกโยคะ ท่านมหาตมา คานธี เคยไปเยี่ยมโรงเรียนแห่งนี้ และเขียนในสมุดเยี่ยมว่า “มีความประทับใจกับสถาบันแห่งนี้มาก”


ปี ค.ศ. 1920 เป็นผู้แทนอินเดียไปประชุมทางด้านศาสนาที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา โดยไปปาฐกถาเรื่อง “ศาสตร์แห่งศาสนา”(The Science of Religion) และในปีเดียวกันนี้ได้ก่อตั้งสมาคมเซลฟ์-เรียไลเซชั่น เฟลโลว์ชิฟ(Self-Realization Fellowship) เพื่อเผยแพร่ศาสตร์โบราณของอินเดีย ปรัชญาโยคะ และการเข้าสมาธิ


ช่วงหลายปีถัดมา ได้เดินสายสอนโยคะและการเข้าสมาธิทางฟากฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา และเมื่อปี ค.ศ. 1924 ได้ข้ามไปสอนที่ทวีปยุโรปด้วย


ในปีถัดมาได้ก่อตั้งศูนย์กลางนานาชาติของสมาคม เซลฟ์-เรียไลเซชั่น เฟลโลว์ชิฟ ที่นครลอสแนเจลิส อันเป็นศูนย์บัญชาการงานเผยแพร่โยคะ


ในช่วง 10 ปีต่อมาได้เดินทางไปปาฐกถาและจัดกลุ่มศึกษาโยคะและการเข้าสมาธิตามที่ต่างๆทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา มีชาวอเมริกันให้ความสนใจเข้าฟังและเข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก


คำสอนของท่านเน้นที่ความเป็นหนึ่งเดียวกันของศาสนาสำคัญๆของโลก โดยสอนให้ใช้วิธี กริยะโยคะ เพื่อปลุกจิตวิญญาณให้เข้าถึงพระเจ้า ซึ่งเป็นวิธีแบบโบราณที่เคยใช้กันมาแต่ครั้งบรรพกาล ซึ่งได้สูญหายไปในช่วงยุคมืดแต่ถูกนำกลับคืนมาให้แก่ชาวโลกโดยท่านบรมครูบาบาจี


ศิษย์ของท่าน ที่สำคัญ เช่น Luther Burbank นักผสมพันธ์พืช; Amerita Galli-Curci นักร้องโอเปรา ; George Easman ผู้ประดิษฐ์กล้องถ่ายรูปโกดัก ; Edwin Markham นักประพันธ์ ; Leopold Stokowski ซิมโฟนี คอนดักเตอร์


ปี ค.ศ. 1927 ได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการที่ทำเนียบขาว โดยประธานาธิบดี คาลวิน คูลิดจ์(Calvin Coolidge) ซึ่งให้ความสนใจกิจกรรมของท่านที่ลงประโคมข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ


ปี ค.ศ. 1935 เดินทางทัวร์ยุโรปและอินเดียเป็นเวลา 18 เดือน ช่วงนี้ได้ไปแสดงปาฐกถาตามสถานที่ต่างๆในอินเดีย และได้เดินทางไปพบปะกับ ท่านมหาตมา คานธี รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดียม เซอร์ ซี.วี. รามัน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ และไปพบผู้นำจิตวิญญาณของอินเดีย รวมทั้ง ท่านศรี รามานะ มหาฤษี และนางอานันทะ โมยี มา และในช่วงที่กลับมาอินเดียคราวนี้ท่านสวามี ศรียุกเตศวร คุรุของท่าน ได้สถาปนาท่านในตำแหน่งสูงสุดของทางคณะสงฆ์เป็น บรมหงส์ (Paramahansa)


ระหว่างทศวรรษปี 1930 พักการเดินสายแสดงปาฐกถามาทุ่มงานเขียนหนังสือและสร้างรากฐานให้แก่งานของสมาคม เซลฟ์-เรียไลเซชั่น เฟลโลว์ชิฟ หรือที่ประเทศอินเดียเรียกว่า Yogoda Satsanga Society ช่วงนี้การเผยแพร่งานโยคะทำในรูปของการส่งคำสอนไปให้ผู้สนใจอ่านที่บ้าน


เขียนอัตชีวประวัติตนเองเรื่อง Autobiography of a Yogi ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1946 และมีฉบับแก้ไขปรับปรุงต่อๆมาหลายครั้ง ปรากฏว่าเป็นหนังสือติดอันดับขายดี(Best seller) และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆถึง 18 ภาษา ปัจจุบันถือว่าเป็นหนังสือคลาสสิกที่ทุกคนต้องอ่าน


เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1952 ท่านละสังขาร(หรือที่ภาษาโยคะเรียกว่า เข้ามหาสมาธิ) การเสียชีวิตของท่านสร้างความฮือฮาให้แก่คนอเมริกันและชาวโลก เนื่องจากผู้อำนวยการสุสาน Director of Forest Lawn Memorial Park ที่สหรัฐฯ รายงานว่า “ศพของท่านไม่เน่าเปื่อยแม้ว่าจะเสียชีวิตมาตั้ง 20 วันแล้ว เป็นปรากฏการณ์ที่ใครๆไม่เคยประสบพบเห็นมาก่อน...”




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม